6/11/54

ความรุนแรงในครอบครัว



มนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง ๆ จะเติบโตขึ้นมาเป็นบุคคลที่มีร่างกายสถานะตัวตนในสังคมได้ จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูลจากสถาบันหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นหน่วยย่อยและเล็กที่สุดในสังคม สถาบันนั้นคือ "ครอบครัว" ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างหลากหลายกันไปตามแต่สถานะและสภาวะการณ์ของครอบครัวนั้นๆ ว่าจะประกอบสร้างให้มีใครบ้าง ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ลูก สามี ภรรยา หรือญาติพี่น้องอื่นๆ นอกจากสถานะทางบุคคลที่มีความสำคัญแล้วมิติในด้านสัมพันธภาพ อันได้แก่ ความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจดูแลเอาใจใส่ห่วงใยซึ่งกันและกันระหว่างบุคคลในครอบครัว ก็เป็นส่วนสำคัญในการประกอบร่างสร้างตนให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาเป็นประชาชนพลเมืองที่มีความสามารถและประสิทธิภาพได้


จะเห็นได้ว่ามิติความสัมพันธ์ทางครอบครัวมีความเชื่อมโยงกันทั้งทางร่างกายและจิตใจในด้านที่ดีเป็นสำคัญ แต่ในสภาพความเป็นจริงนั้นหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ความสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงและแอบแฝงไปด้วยความรุนแรงกลับซ่อนเร้นอยู่ในสถาบันที่แยกย่อยและสำคัญที่สุดในสังคม ทำให้พื้นฐานบุคลิกของผู้คนซึ่งเป็นสมาชิกในครอบครัวถ่ายทอดเอาเจตคติและเกิดการเลียนแบบกระทำตามต่อกันมา หากอยู่ในสถานะที่ร่างกายและความคิดถูกกดดันจะถูกระบายออกมาด้วยการกระทำความรุนแรงกับสมาชิกในครอบครัวต่อไป ทำให้ครอบครัวเกิดความอ่อนแอในด้านสัมพันธภาพและเกิดเป็นปัญหาทางสังคมติดตามมาในภายหลัง


สิ่งเหล่านี้เราจะสามารถเห็นได้จากภาพข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันต่างๆ ที่ลงตีพิมพ์ข่าวความรุนแรงภายในครอบครัวไม่เว้นแต่ละวัน นอกจากจะทำให้เห็นว่าการกระทำความรุนแรงกับบุคคลในครอบครัวมีการกระทำกันอยู่เป็นอาจิณแล้ว ยังมีแนวโน้มที่ระดับความรุนแรงจะมีมากขึ้นตามลำดับ จากเมื่อก่อนอาจจะเพียงแค่การทำร้ายร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บแต่ปัจจุบันมีการลงไม้ลงมือถึงขั้นเสียชีวิต หรือมีการใช้อาวุธประกอบการกระทำความรุนแรงจนทำให้ถึงขั้นพิการและขยายวงในการทำอันตรายไปสู่ผู้คนรอบข้างมากขึ้นอีกด้วย


สำหรับความรุนแรงในครอบครัวที่ปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์รายวันในช่วงปี 2543-2544 จากการรวบรวมของมูลนิธิเพื่อนหญิง (2545) พบว่ามีรวม 228 ราย โดยร้อยละ 72 เป็นการทำร้ายกันหรือทำร้ายตนเองจนถึงแก่ชีวิต แยกได้เป็นกรณีสามีฆ่าภรรยาร้อยละ 39 ภรรยาฆ่าสามีร้อยละ 14 พ่อฆ่าลูกร้อยละ 7 แม่ฆ่าลูกร้อยละ 6 และภรรยาฆ่าตัวตายร้อยละ 5


ทำให้เห็นได้ว่าความรุนแรงในครอบครัวนี้เป็นปัญหาที่คุกคามและละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเป็นอย่างมากและผู้กระทำส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ชายกระทำต่อผู้หญิงหรือเด็กซึ่งเป็นบุคคลที่มีความอ่อนแอกว่า ซึ่งผู้กระทำนั้นอาจจะมีบทบาทหน้าที่เป็น"พ่อ" เป็น "สามี" หรือญาติพี่น้องต่างๆ และการกระทำนั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งทางกายและทางด้านจิตใจ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมามักจะพบว่าผู้ถูกกระทำมักจะต้องเผชิญปัญหาโดยคนเดียวลำพัง เนื่องจากทัศนคติในสังคมที่มองว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัวของครอบครัวนั้น ๆ บุคคลอื่นที่ไม่มีความสัมพันธ์ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยว อันนำไปสู่การขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองและจัดการปัญหาเหล่านั้นทั้งในระดับชุมชนและในสังคมโดยรวม


จากการกระทำความรุนแรงภายในครอบครัวดังกล่าวได้มีการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกกระทำโดยเฉพาะที่เป็นเพศหญิงว่าเกิดผลในการกระทำทั้งทางด้านกายและทางเพศ ในด้านกายหมายรวมถึงการกระทำอันได้แก่ การผลัก กระแทก ปาสิ่งของ บีบคอ รัดคอ ตบ ต่อย ตี เตะ ลาก ซ้อม เผา ขู่ว่าจะใช้อาวุธทำร้าย หรือลงมือใช้อาวุธทำร้าย ในด้านเพศหมายรวมถึงสถานการณ์ต่อไปนี้คือ การถูกบังคับร่วมหลับนอน การจำยอมมีเพศสัมพันธ์เพราะความกลัว หรือถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ในท่าที่ผู้หญิงรู้สึกว่าผิดธรรมชาติหรือรับไม่ได้


และผลจากการกระทำเหล่านี้ได้สร้างผลกระทบให้แก่ผู้หญิงที่ถูกคู่ของตนกระทำความรุนแรงพบว่า ส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตใจอย่างชัดเจน คือมีผลต่อสุขภาพโดยรวม และผลจากการบาดเจ็บที่ได้รับโดยตรงเมื่อถูกทำร้ายทางกาย และที่น่าสังเกตว่าในกลุ่มที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงทางกายอันสมควรไปรับการรักษาพยาบาล ปรากฏว่าประมาณ 1 ใน 3 ไม่ยอมไปรับการรักษา ทั้งนี้กลุ่มผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงทั้งทางกายและทางเพศเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างเด่นชัดซึ่งส่งผลให้ความสามารถในการดำเนินชีวิตตามปกตินั้นเปลี่ยนแปลงไป เกิดความหวาดกลัว วิตกกังวล ในรายที่คิดมากอาจเกิดภาพหลอนและนำไปสู่อาการสติฟั่นเฟือนและฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหาได้เลยทีเดียว


จากความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตและร่างกาย ซึ่งในความเป็นจริงผู้ถูกกระทำควรมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองโดยรัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมายจากการถูกกระทำความรุนแรงนี้ด้วย เพราะตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีนั้นได้ระบุไว้ว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิในชีวิต เสรีภาพและความปลอดภัยในร่างกายและยังมีสิทธิในความเสมอภาคทางกฎหมาย (ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 3 และข้อ 6) อีกด้วย


นอกจากนี้ยังมีอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (The Convention on the Elimination of Alls Forms of Discrimination Against Women) หรือที่เรามักจะเรียกว่า CEDAW ซึ่งจำเป็นต้องทำให้รัฐไทยมีการส่งเสริมสถานภาพสตรีอย่างแท้จริง อันได้แก่ การแก้กฎหมายที่เลือกปฏิบัติต่อสตรี การมีหลักสูตรเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิมนุษยชนของสตรีในการศึกษาทุกระดับ การส่งเสริมให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในงานนะดับบริหารในทุกภาคส่วนของสังคม และการออกกฎหมายโดยเฉพาะที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้หญิง ต้องให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมหรือปรึกษาหารือผู้หญิง เป็นต้น


และจากข้อตกลงใน CEDAW นี้เองทำให้รัฐไทยจำเป็นต้องหันมาใส่ใจและปรับเปลี่ยนกระบวนการในการให้ความเป็นธรรมแก่สตรี โดยเฉพาะในกรณีความรุนแรงภายในครอบครัวซึ่งผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้หญิง เพราะในปัจจุบันการปกป้องผู้หญิงจากการได้รับความรุนแรงภายในครอบครัวใช้มาตรการทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาบังคับใช้ ซึ่งยังมีความไม่เหมาะสมกับการกระทำที่เกิดขึ้น เนื่องจากกฎหมายอาญามีเจตนารมณ์ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดมากกว่าที่แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด หรือปกป้องคุ้มครองผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงใน ครอบครัว


ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติป้องกันและแก้ไขการใช้ความรุนแรงในครอบครัวโดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกา แก้ไขเป็นร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวและประกาศใช้แล้วในปี 2551 ที่ผ่านมา นับเป็นก้าวสำคัญของสังคมไทยในการสร้างกลไกคุ้มครองและพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาเนื่องจากความรุนแรงในครอบครัว อันเป็นปัญหาที่คุกคามและเป็นรูปแบบหนึ่งของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสังคมบ้านเรา


ประโยชน์จากการมีกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวฉบับนี้ คือจะมีความเหมาะสมกว่ากระบวนการทางอาญาเพราะสามารถกำหนดรูปแบบ วิธีการ และขั้นตอนที่มีลักษณะแตกต่างกว่าการดำเนินคดีอาญาโดยทั่วไป ทั้งให้ผู้กระทำความผิดมีโอกาสกลับตัวและยับยั้งการกระทำผิดซ้ำ รวมทั้งรักษาความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวไว้ได้ ประกอบกับมาตรา 52 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีบทบัญญัติให้เด็ก เยาวชนและบุคคลในครอบครัวมีสิทธิได้รับความคุ้มครองโดยรัฐจากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรมจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้นด้วย


จากการที่ร่างพระราชบัญญัตินี้ได้ประกาศออกมาใช้เปรียบเสมือนการกระตุ้นให้หน่วยงานผู้หญิงหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมเสนอข้อพิจารณาตัวบทกฎหมายให้มีความรัดกุมและชัดเจนขึ้นในวิธีการปฏิบัติ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวได้มาจากภาคประชาสังคมในเวทีสัมมนาระดับภูมิภาคซึ่งจัดขึ้นโดยแนวร่วมเพื่อความก้าวหน้าของผู้หญิงได้แจกแจงให้เห็นถึงความคิดเห็นของสตรีที่คาดหวังต่อตัวบทกฎหมายนั้นดังนี้คือ
  1. ให้รัฐตระหนักว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งมีความละเอียดอ่อนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์หญิงชาย มีรูปแบบการกระทำรุนแรงทางกาย ทางจิตใจและทางเพศตามที่ระบุในปฏิญญาสากลว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิง ความรุนแรงในครอบครัวมีผลคุกคามต่อสิทธิและความปลอดภัยในชีวิต ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งทางกายและใจในระดับที่แตกต่างกัน จึงควรตระหนักถึงความต้องการและการจัดการปัญหาที่หลากหลายของผู้ประสบปัญหาซึ่งมีตั้งแต่การไกล่เกลี่ยเจรจาไปจนถึงการดำเนินคดีเอาผิดกับสามี
  2. ให้รัฐตระหนักว่าความรุนแรงในครอบครัวมีความแตกต่างเมื่อเกิดกับกลุ่มที่ต่างเพศ ต่างวัย และที่เกิดจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ จำเป็นต้องคำนึงถึงมิติความสัมพันธ์หญิงชายโดยมีมาตรการพิเศษคุ้มครองสวัสดิภาพความปลอดภัยของหญิงที่ประสบความรุนแรง ในขณะที่กฎหมายนี้จะให้ความคุ้มครองต่อคนทุกคนที่เป็นสมาชิกในครอบครัว เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องตระหนักถึงสภาพที่เปราะบางกว่าของผู้ถูกกระทำที่เป็นหญิงและมีมาตรการปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
  3. รัฐต้องเคารพการตัดสินใจของผู้ถูกกระทำความรุนแรงโดยมีมาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งโดยให้ข้อมูลเพื่อให้หญิงที่ประสบปัญหาสามารถตัดสินใจและดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อพ้นจากความรุนแรง หากจะใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยจะต้องมาจากความต้องการของหญิงที่ประสบปัญหาและมีหลักประกันว่าผู้ถูกกระทำจะปลอดภัยอย่างแท้จริงจากการถูกกระทำซ้ำ ให้ดำเนินตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเมื่อหญิงที่ประสบปัญหาต้องการและช่วยเหลือสนับสนุนให้ยุติการสมรสเมื่อหญิงที่ประสบปัญหาตัดสินใจหย่าเพื่อแยกทางกับสามี
  4. ให้มีการศึกษาเพื่อประเมินว่ากระบวนการบำบัดพฤติกรรมสามีที่ชอบใช้ความรุนแรงมีประสิทธิภาพเพียงใด ควรจะมีมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้สามีที่เข้ารับการปรับพฤติกรรมมากระทำซ้ำหญิงที่เป็นภรรยา รวมถึงกรณีการบำบัดจากการติดสุราซึ่งมีผลกระตุ้นให้สามีกระทำการรุนแรงด้วย
  5. จัดสวัสดิการที่เหมาะสมและเพียงพอให้กับหญิงที่ประสบความรุนแรงจากสามีทั้งในภาวะวิกฤตและในระยะยาว เนื่องจากในปัจจุบันมีการให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าที่จำกัดโดยเฉพาะแหล่งพักพิงสำหรับหญิงที่ประสบความรุนแรงในครอบครัวไม่เพียงพอกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป รวมถึงการให้คำปรึกษาและเข้าถึงหญิงที่ประสบปัญหาในระยะยาว ควรจัดบริการดูแลสุขภาพทั้งทางกายและการเยียวยาจิตใจ สนับสนุนความเข้มแข้งทางเศรษฐกิจเพื่อให้ผู้ประสบปัญหาสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ด้วยการพึ่งตนเอง
แลทั้งหมดทั้งมวลนี้ คือแนวทางที่จะสร้างระบบระเบียบใหม่ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนแนวคิดและทัศนคติของผู้คนในสังคมต่อเรื่อง "ความรุนแรงในครอบครัว" ที่จะไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของใครของมันอีกต่อไป แต่คนทุกคนในสังคม หน่วยงานทุกภาคส่วนในสังคมและของรัฐจำเป็นที่จะต้องออกมาปกป้องและคุ้มครองบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อเหล่านี้ เพราะความรุนแรงในครอบครัวเป็นการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นได้ง่ายมากในสังคมบ้านเรา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย หากแต่ประชาชนทั่วไปยังได้รับความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วยประชาชนคนไทยด้วยกันเองและเกิดในสถาบันที่สำคัญและเล็กที่สุดในสังคม นั่นถือว่าสังคมเราไม่มีความปลอดภัยและไร้สันติสุข เพราะความรุนแรงในครอบครัวเปรียบเหมือนภาพสะท้อนความล้มเหลวในการส่งเสริมหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนที่ชัดเจนที่สุด และเป็นการบ่อนทำลายประเทศและสังคมมากกว่าข้าศึกที่มารุกรานจากภายนอกประเทศเสียอีก


ด้วยเหตุนี้จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญอย่างยิ่งของคนไทยทุกคนที่จะต้องหันหน้ามาร่วมมือและใส่ใจกันในเรื่อง "การยุติความรุนแรงภายในครอบครัว" เพราะหากขาดความร่วมมือจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้วการแก้ไขปัญหาในจุดนี้คงไม่ประสบความสำเร็จเพราะการกระทำเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่และทุกเวลา หากประชาชนคนไทยทุกคนตระหนักและใส่ใจในความรุนแรงพฤติกรรมเหล่านั้นก็จะสามารถสูญสลาย เหยื่อได้รับการกป้องคุ้มครองและเยียวยาได้ทันท่วงที และนั่นหมายถึงสังคมที่สุขสงบและเต็มไปด้วยบรรยากาศที่ปลอดภัยเอื้ออำนวยให้ประชาชนทุกคนสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขชั่วกาลนาน


"ยุติความรุนแรงในครอบครัว คือการส่งเสริมสันติภาพและหลักสิทธิมนุษยชน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น