12/11/54

ผู้หญิง กับทางเลือกต่อความรุนแรง


“ผู้หญิง” เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง การใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง คือ การที่บุคคล (ซึ่งมักจะเป็นเพศชาย) เลือกปฏิบัติด้วยความรุนแรงต่อเหยื่อที่เลือกไว้ (ซึ่งมักจะเป็นผู้หญิง) ไม่ว่าจะเป็นทางกาย วาจา หรือจิตใจ
 ปัญหาความรุนแรงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้น ทุกสถานที่ ทุกประเทศ วัฒนธรรม ชนชาติ ระดับอายุ ศาสนา ระดับการศึกษา ฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ ตราบเท่าที่สังคม วัฒนธรรม ไม่ให้ความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ อนุญาตให้ผู้ชายได้เปรียบ มีสิทธิที่จะแสดงอำนาจเหนือและควบคุมผู้หญิง ส่วนกฏหมายและประเพณีก็ส่งเสริมการกดขี่เพศหญิง อีกทั้งทัศนคติของผู้ชายที่มีต่อผู้หญิงในทางที่ไม่ให้เกียรติ คิดว่าผู้หญิงเป็นเพศอ่อนแอ ต้องอยู่ภายใต้การปกป้องดูแล 
 
 ทัศนคติที่เห็นผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศได้ถูกตอกย้ำผ่านการโฆษณาสินค้าและสื่อลามกต่างๆอันนำไปสู่การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง การมีมาตรฐานสองระดับ (double standard) ในทุกพื้นที่ ไม่ว่า ในครอบครัว ที่ทำงาน สถาบันการศึกษา ศาสนา โดยเฉพาะสถาบันการเมือง

 ความรุนแรงต่อผู้หญิงในรูปแบบที่ชัดเจนที่สุดก็คือ “ภัยทางเพศ” ซึ่งมีอยู่หลายระดับ เริ่มตั้งแต่ 

การคุกคามทางเพศ (sexual harassment) 

นี่คือปัญหาใหญ่ที่ผู้หญิงแทบทุกคนเคยประสบ การคุกคามทางเพศ คือการที่ฝ่ายชายใช้อำนาจเพื่อล่วงเกินทางเพศกับฝ่ายหญิง ไม่ว่าจะเป็น
    การและเล็ม แทะโลม ด้วยสายตาและคำพูด ไม่ว่าจะถูกเนื้อต้องตัวฝ่ายหญิงหรือไม่ก็ตาม เช่น เป่าปาก ผิวปาก ยักคิ้วหลิ่วตา ส่งจูบ แสดงท่าส่อนัยยะถึงพฤติกรรมทางเพศ
การตามตื้ออย่างไม่รู้กาละเทศะ    การติดตามไปไหนต่อไหนโดยไม่ได้รับคำเชิญชวน การสะกดรอยตาม
การใช้วาจาเย้าแหย่หรือล่วงเกินโดยส่อนัยทางเพศ พูดจาลามก พูดสองแง่สองง่าม พูดถึงอวัยวะบางส่วน
บีบบังคับให้ผู้หญิงต้องรับรู้เรื่องทางเพศ เช่น ให้ดูรูปภาพ, หนังสือ, ภาพยนตร์ หรือเว๊บไซต์โป๊เปลือย วาดรูปหรือเขียนจดหมายลามกส่งให้ผู้หญิง การอวดของลับ
 การแตะเนื้อต้องตัวที่ไม่เหมาะสม จับก้น โอบไหล่ จับมือถือแขน กอดรัดฟัดเหวี่ยง ไปจนถึงขั้นรุนแรงอย่างการข่มขืน
นอกจากนั้น การคุกคามทางเพศที่ไม่ได้กระทำโดยพฤติกรรมภายนอก แต่ใช้วิธีการควบคุมจิตใจก็ถือเป็นการเอารัดเอาเปรียบทางเพศได้เช่นกัน ซึ่งอาจมาในรูปแบบการเสนอผลประโยชน์บางอย่างในการทำงานหรือการเรียนโดยแลกเปลี่ยนกับการตอบสนองความต้องการทางเพศ กระทั่งเป็นการข่มขู่คุกคามทางจิตใจ ทำให้ปฏิบัติงานหรือเรียนไม่ได้ตามปกติ
การประทุษร้ายทางเพศ (sexual assault) 
คือการที่อีกฝ่ายใช้อำนาจที่เหนือกว่า อาจเป็น พละกำลัง อาวุธ หรืออำนาจหน้าที่ในที่ทำงานหรือสถานศึกษาสร้างความกดดัน บังคับให้อีกฝ่าย (ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย) ตอบสนองความพอใจทางเพศแก่ตน อันนำไปสู่การร่วมกระทำกิจกรรมทางเพศโดยไม่เต็มใจ ไม่แต่เฉพาะกิจกรรมทางอวัยวะเพศเท่านั้น แต่รวมถึงการใช้ปากและทวารหนักอีกด้วย 
 รูปแบบที่ชัดเจนที่สุดคือ การข่มขืน (rape) ไม่ว่าจะเป็นวิธีการหลอกลวง ขู่ให้ยอม ใช้ยาหรือเหล้ามอม ทำให้่ช่วยตัวเองไม่ได้ หรือใช้กำลังทำร้ายแล้วข่มขืน
การขืนใจ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในรูปแบบไหนก็ถือว่าเป็นอาชญากรรมทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าอีกฝ่ายจะเป็นคู่รักหรือสามีของเราก็ตาม


ความรุนแรงในครอบครัว  (domestic violence) 

ก็คือการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (ซึ่งมักเป็นฝ่ายชาย) กระทำความรุนแรงทั้งทางร่างกาย วาจาและจิตใจต่ออีกฝ่ายหนึ่ง (ซึ่งมักเป็นผู้หญิงและเด็ก) เพื่อควบคุมให้อยู่ใต้อำนาจ เช่น ทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยว ข่มขู่ด้วยวาจาให้ทำตามที่ต้องการ บังคับให้ตัดญาติขาดมิตร ทำให้ต้องอับอายต่อผู้อื่น จำกัดการใช้ทรัพยากร เช่น พื้นที่ เครื่องมือสื่อสาร การเดินทาง หรือ เงิน
 การค้ามนุษย์ (human trafficking) คือการลดคุณค่าของมนุษย์ให้กลายเป็นสินค้า มีการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะโดยการล่อลวงหรือสมัครใจ โดยเฉพาะการบังคับให้ค้าประเวณี ทั้งในระดับบุคคล และเป็นกลุ่ม
ฆาตรกรรม (murder) คือความรุนแรงอันนำไปสู่ความตาย ถือได้ว่าเป็นความรุนแรงสูงสุดที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง
ธนาคารโลก (World Bank) ประมาณว่า ความรุนแรงและภัยทางเพศเป็นสาเหตุการตายและความพิการของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์อันมีความร้ายแรงพอๆกับมะเร็งและเป็นสาเหตุให้ผู้หญิงบาดเจ็บและเจ็บป่วยได้เท่าๆกับอุบัติเหตุบนท้องถนนและโรคมาเลเรียรวมกัน


 สมัยเรียนอยู่ชั้นประถมปลาย ฉันเริ่มรักการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ ธุรกิจครอบครัวคือร้านตัดเสื้อผ้าสตรี แต่ละวันจะมีลูกค้ามากมาย โซฟารับแขกเต็มไปด้วยนิตยสารสำหรับผู้หญิงทุกประเภท หลังกลับจากโรงเรียน ฉันชอบนอนเอกเขนกบนโซฟาตัวโปรด อ่านดะตั้งแต่คอลัมภ์ผัวเมียละเหี่ยใจในคู่สร้างคู่สม ตอบปัญหากับศิราณี ไปจนถึงสารพันปัญหาในนิตยาสารชีวิตจริง 
 ฉันเริ่มเรียนรู้จักคำว่า “ข่มขืนกระทำชำเรา” จากนิตยสารเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องของ “ปูนหอม”     เด็กหญิงรุ่นราวคราวเดียวกับฉันที่ถูก “ชำเรา” จากครูและคนในครอบครัวของเธอเอง 
 นิยายขนาดยาวหลายสิบตอนจบเรื่องนี้ทำให้เด็กขาดความอดทนอย่างฉันเลิกติดตาม ฉันหันไปอ่านเรื่องสั้นๆที่เข้มข้นด้วยรูปประกอบจากนิตยสาร “ชีวิตจริง” ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวของพ่อข่มขืนลูก พี่ข่มขืนน้อง ลุงข่มขืนหลาน หรือผู้ชายทั้งบ้านรุมข่มขืนเด็กสาวคนเดียว

 ฉันเรียนจบชั้นประถมพร้อมด้วยความรู้สึกว่า “ฉันต้องเตรียมตัวให้พร้อมเสียแล้ว เพราะผู้หญิงทุกคนโตแล้วจะต้องถูกข่มขืน”


    ทุกๆหนึ่งชั่วโมง มีผู้หญิงไทยหนึ่งคนถูกทำร้าย
    ทุกๆสองชั่วโมง มีผู้หญิงไทยหนึ่งคนถูกข่มขืน 
 นี่เป็นสถิติโดยเฉลี่ยในช่วงปี ๒๕๔๓ ที่คำนวณจากคดีที่ได้รับแจ้งของศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่นี่แทบจะเทียบไม่ได้เลยกับประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีสถิติบ่งบอกว่า กรณีข่มขืนนั้นเกิดขึ้นทุกๆหนึ่งนาที และการทำร้ายผู้หญิงเกิดขึ้น  ทุกๆ ๕๑ วินาที นั่นหมายความว่า ผู้หญิงปีละประมาณ ๖๘๓,๐๐๐ คน ถูกข่มขืนที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา
 ผู้หญิงอเมริกัน ๑ ใน ๘ คนจะเคยถูกข่มขืนอย่างน้อยหนึ่งครั้ง คิดเป็นผู้หญิงถูกข่มขืนประมาณ ๑๒ ล้านคนจากทั่วประเทศ
 สถิติที่น่าสนใจที่สุดคือ ๓ ใน ๔ ของผู้ข่มขืนจะเป็นญาติของผู้ถูกข่มขืนเอง ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากคดีข่มขืนในสังคมไทยที่ปรากฏว่ามีจำนวนผู้กระทำความผิดทางเพศที่ศาลพิจารณาว่ากระทำความผิดจริงและลงโทษจำคุกอยู่ในปัจจุบัน มากเป็นอันดับสี่ของคดีประเภทต่างๆ ซึ่งหมายความว่า มีผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของผู้กระทำความผิดเหล่านี้อย่างมากมาย ทั้งที่เป็น การถูกข่มขืนแบบตัวต่อตัว (single rape) โทรมหญิง (gang rape) ฆ่าข่มขืน   (felony rape) ข่มขืนภายในครอบครัว (incest) และข่มขืนคู่รัก (acquaintance rape / date rape) ตามสถิติพบว่า การข่มขืนโดยผู้ใกล้ชิดโดยเฉพาะคู่รักเป็นกรณีที่เกิดขึ้นมากที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น