8/11/54

มาตรการแก้ปัญหาควารุนแรงในเด็ก


คุณศิริบูรณ์ : รายการเช้าวันนี้ขอนำเสนอเรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเด็ก สืบเนื่องจากช่วงขณะนี้เกิดปัญหาเด็กก่อความรุนแรง ทำร้ายร่างกายกันมากขึ้นเรื่อย วิทยากรที่จะมาร่วมสนทนากับเราในวันนี้เป็นผู้ที่ทำงานคลุกคลีกับเด็กมาโดยตลอด ขอแนะนำท่านวุฒิสมาชิกและประธานมูลนิธิเด็ก ท่านวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สวัสดีค่ะ ไม่ทราบว่ามูลนิธิเด็กของท่านให้การดูแลเด็กและเยาวชนประเภทใดบ้าง
คุณวัลลภ : ปัจจุบันที่ดูแลเด็กจะเป็นเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงและเป็นกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง คำว่าได้รับผลกระทบก็คือว่าอยู่ในครอบครัวซึ่งมีความรุนแรงตลอด เช่นพ่อแม่ตีกันแล้วก็ไปทำร้ายเขา และหนีออกจากบ้านไปเร่ร่อนอยู่บนถนน กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่เรารับตัวมาจากผู้พิพากษาสมทบคือเด็กทำความรุนแรง คือไปทำร้ายร่างกายผู้อื่น ศาลท่านก็เมตตาไม่จำคุก และส่งมาให้ผมคุมความประพฤติแทน ก็จะมี 2 กลุ่ม และจากสถิติจะพบว่าเด็กผู้ชายใช้ความรุนแรงมากกว่าเด็กผู้หญิง
คุณศิริบูรณ์ : มีสาเหตุต่างกันไหมคะว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น
คุณวัลลภ : ผมคิดว่าการเลี้ยงดูในครอบครัวค่อนข้างจะเป็นปัจจัยหลัก ยกตัวอย่างเช่น เรามักจะเลี้ยงดูลูกผู้ชายแบบปล่อย แต่เด็กผู้หญิงเราจะเลี้ยงดูแบบอบรมบ่มนิสัย เด็กผู้หญิงค่อนข้างจะเรียบร้อย ถ้าพูดถึงวัฒนธรรมไทยนะครับ ขณะเดียวกันสังคมข้างนอกก็มีตัวเอื้อให้เด็กผู้ชายมีความก้าวร้าวได้ง่ายด้วย เช่น มียาให้เสพ มีเบียร์โฆษณาทุกนาที มีเหล้าให้ดื่ม ทำให้สติขาดหายได้มากกว่า และเด็กผู้ชายก็มีสถานที่รวมกลุ่มกันง่าย พอรวมกลุ่มกันได้โอกาสจะใช้ความรุนแรงแบบกลุ่มก็จะสูง ฉะนั้นการตีกันเป็นกลุ่มก็จะมีมากขึ้น อันนี้ก็เป็นปัจจัยที่เอื้อให้เด็กผู้ชายทำร้ายกันเองแล้วก็ทำร้ายผู้อื่นสูงกว่าเด็กผู้หญิง
คุณศิริบูรณ์ : ในกลุ่มของเด็กที่ก่อความรุนแรง อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เด็กไทยใช้ความรุนแรง ก้าวร้าวได้มากขึ้นขนาดนี้คะ
คุณวัลลภ : สามารถวิเคราะห์กันได้หลายแง่มุม แต่ว่าสุดท้ายทุกคนมีความเห็นคล้ายกันว่าปัจจัยหลักมาจากครอบครัว
คุณศิริบูรณ์ : รู้สึกทุกอย่างจะมาลงท้ายอยู่ที่ครอบครัว
คุณวัลลภ : เขาบอกว่าเด็กที่เติบโตมาจากครอบครัวที่มีความรุนแรง แน่นอนว่าเป็นงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ยืนยันชัดเจนว่าเด็กที่ถูกทำร้ายร่างกายหรือมาจากครอบครัวที่มีความรุนแรงนี้จะไปใช้ความรุนแรงกับคนอื่น
คุณศิริบูรณ์ : ทำไมเด็กเขาจึงไม่คิดกลับกันว่าถูกกระทำแรงแบบนั้นน่าจะรู้สึกว่าไม่อยากทำอย่างนั้นกับคนอื่น
คุณวัลลภ : เพราะว่าเขาเก็บเอาความโกรธ ความเป็นคนพ่ายแพ้เอาไว้ในใจ แล้วถ้าเรียนรู้ว่าวิธีการทำให้คนอื่นแพ้เราบ้างคือการใช้ความรุนแรง เขาก็จะใช้ต่อ นั่นคือเก็บแล้วก็ระบายออก ทีนี้ถามว่ามนุษย์เราระบายออกเหมือนกันไหม ตรงนี้สำคัญมากซึ่งเป็นประเด็นหลัก มนุษย์เราทุกคนนี้เมื่อเครียดเมื่อโกรธจะระบายความรุนแรงต่างกัน เช่น บางทีเราโกรธเราจะเดินกระแทกเท้า เอาหนังสือฟาดโต๊ะ กระแทกประตูหรือไม่ก็ขว้างแก้ว อันนี้คือความรุนแรงที่แต่ละคนแสดงออกต่างกัน แล้วแต่ว่าเขาจะมีสายโยงใยที่ดึงเอาไว้คือสติในรูปแบบต่างๆ กันได้มากน้อยแค่ไหน เช่น จะทำแรงไปก็เกรงใจพ่อ อันนี้เขาเรียกว่ายังมีสติอยู่ เกรงใจพระ เกรงใจครู เกรงใจเพื่อน อันนี้เขาเรียกสติที่มันคอยดึง หรือเกรงใจสังคม ตรงนี้ที่เป็นเรื่องสำคัญ เราพบว่าเด็กที่ทำความรุนแรงมากเท่าไรก็เพราะมีตัวเกรงใจน้อย มีความโกรธแค้นเป็นตัวผลักดันสูง อันนี้คือประเด็นหลักที่จะทำให้ไปไกลถึงขั้นไปทำร้ายคนอื่น จะเห็นว่าไม่ใช่อยู่ๆ เด็กคนหนึ่งจะไปทำร้ายคน มันจะมีพฤติกรรมการแสดงออกไปทีละขั้นตอนของมัน บางทีอาจจะกระโดดบ้าง เช่น ก่อนจะไปทำร้ายคนก็ทำร้ายสัตว์ เช่น ชอบเตะสุนัข เอาจิ้งจกลงมาดึงหาง
แล้วฟาดมันทิ้ง มันมีพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงกับสิ่งของ กับสัตว์ กับสิ่งมีชีวิตแล้วไปถึงมนุษย์
คุณศิริบูรณ์ : หมายความว่าเราสามารถสังเกตได้ว่าลูกหลานของเรามีสัญญาณในลักษณะนี้หรือเปล่า
คุณวัลลภ : หลายคนก็แปลก คือผมเคยเจอเด็กเร่ร่อนที่ทำร้ายตัวเอง เช่น ใช้กระเบื้องมากรีดแขนให้เลือดมันไหลออก คือเป็นการทำร้ายตัวเอง ทำร้ายตัวเองไปไกลกว่านั้นก็คือไปฆ่าตัวตายอย่างที่เราได้ทราบ แต่ว่าบางส่วนก็ไม่ทำร้ายตัวเองแต่ไปทำร้ายคนอื่น อย่างที่ว่าตีหัวเขาชกเขา แล้วไปไกลถึงขั้นฆ่าเขา มันก็จะเป็นลำดับชั้นของมันเอง
คุณศิริบูรณ์ : เพราะฉะนั้นผู้ปกครองสามารถสังเกตพฤติกรรมของลูกได้
คุณวัลลภ : เขาเรียกว่าสัญญาณบอกเหตุเบื้องต้น ถ้าเราอยู่กับลูกเราหรือลูกศิษย์เรา เราจะรู้พฤติกรรมว่าเด็กคนนี้เป็นคนร่าเริง ชอบคุย แต่วันนี้ทำไมเงียบ เคยประจบประแจกับเรา กลับบ้านวันนี้ทำไมเขาไปในห้องปิดประตูเงียบเลย เงียบเกินไปอันนี้คือสัญญาณบอกเหตุ หรือคำพูดบางคำของลูกก็จะสะท้อน เช่น เกลียดจังเลย อยากจะชกคนนั้นคนนี้ คำแบบนี้บอกอะไรได้หลายอย่าง คือสัญญาณบอกเหตุทั้งนั้น ซึ่งสัญญาณบอกเหตุที่ผมคิดว่าเราต้องตีความให้ออก และหากลไกรองรับ เมื่อสักครู่คุณศิริบูรณ์พูดถึงหลักสูตรใช่ไหมครับ หลักสูตรนี้เป็นเรื่องระยะยาว แล้วเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่ต้องปรับปรุงหลักสูตร แต่ว่าหลักสูตรตรงนี้จะไปไม่ได้ถ้ากลไกอื่นไม่เคลื่อน ผมพยายามเสนอกลไกมากๆ เพราะถ้าเราไม่มีกลไกรองรับบางเรื่องไม่มีทางแก้ปัญหาเหล่านี้ได้สำเร็จ เช่น เมื่อเราเป็นครูเด็กมาเรียนกับเราเอาแค่ 1 ต่อ 20 ผมไม่พูดถึง 1 ต่อ 40 ถ้ายืนเข้าแถว 20 คน นับตั้งแต่คนแข็งแรงที่สุดจนถึงอ่อนแอที่สุดใช่ไหมครับ ยืนเข้าแถวกัน บรรดาเด็กเกเรก็จะไปอยู่หลังห้อง เด็กเรียบร้อยก็จะอยู่หน้าห้อง จะมีลำดับการวางตัวเขาเองโดยธรรมชาติ แต่ว่าคนที่มีความทุกข์มันจะถูกละเลย เพราะว่าครูอาจารย์มักจะสนใจเด็กที่ฉลาดและเด็กที่สนใจเรียน เด็กที่มีความทุกข์เขาก็ต้องการที่พึ่ง ผมจึงต้องการกลไก โรงเรียนเรามีห้องเรียนเยอะทั้งห้องพระ ห้องดนตรี ห้องศิลปะ ห้องเก็บของ ห้องน้ำ แต่เราไม่เคยมีห้องคลายอารมณ์ ผมใช้คำอย่างนี้ก็แล้วกัน เช่นว่าวันนี้ผมทุกข์มาผมไม่อยากเรียนผมอยากไปห้องนี้ ไปหาครูที่เข้าใจผม ฉะนั้นเราก็อยากจะมีครูสักคนที่ไม่ต้องสอนหนังสือ เพราะอะไรเพราะชีวิตมนุษย์มันต้องเรียนรู้เรื่องความรู้และชีวิต ผมอยากจะมีครูสอนชีวิต
คุณศิริบูรณ์ : เป็นครูแนะแนวได้ไหมคะ
คุณวัลลภ : ได้ครับ แต่ต้องเป็นคนที่เด็กทุกคนเลือก เด็กเขารู้เลยว่าครูคนนี้ใช้ได้ เขาเลือกเป็นครับ อย่าไปเลือกแทนเขาเพราะเรามักจะเลือกครูที่โหดๆ ไปเป็น
คุณศิริบูรณ์ : เช่น ครูผู้ปกครอง ฝ่ายปกครอง
คุณวัลลภ : ใช่ จะเลือกแบบนั้นซึ่งมันไม่ใช่ ต้องเลือกที่เด็กรัก ครูที่เขารักแล้วเขาจะไปนั่งอยู่ที่ห้องนั้นไม่ต้องสอนหนังสือ จะมีเด็กไปหาเขาทุกวัน แล้วเขาจะรู้เลย เช่น เด็กบอกเมื่อคืนนี้ไม่ได้นอนเลยพี่ชายไล่ปล้ำ อย่างนี้คือจะรู้ปัญหาเขา จะช่วยเขาได้ เมื่อวานพ่อด่ามาไม่ชอบเลย โกรธพ่อ เราจะได้สอนเขาได้ หรือแม้กระทั่งเด็กวัยรุ่นไปฟังมาจากโรงเรียนสวนกุหลาบ ดูหนังสือโป๊แล้วมีอารมณ์ ครูเขาบอกไม่ได้นะมีอารมณ์ไปข่มขืนเขาติดคุก เขาจะค่อยๆ สอนเรื่องกฎหมาย สอนเรื่องการยับยั้งชั่งใจ สอนเรื่องการป้องกันตัวเอง หมดทุกเรื่อง หรือบอกมีแฟนอกหักจะทำอย่างไร จะไปฆ่าเขา ที่กำลังเป็นข่าวอยู่ ครูก็จะได้บอก เพราะบางเรื่องเขาจะไม่พูดในบ้าน เขาจะมาพูดกับครูที่เขารัก ซึ่งกลไกตรงนี้จำเป็น
คุณศิริบูรณ์ : อันนี้เป็นกลไกในโรงเรียน เดี๋ยวเรามาคุยกลไกในทุกส่วนของสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากครอบครัวคุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะมองอย่างครูหยุย บอกว่าปัญหาจริงๆ เกิดจากการใช้ความรุนแรงกันในครอบครัว คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะใช้โดยไม่รู้ตัวนะคะครู
คุณวัลลภ : เป็นการแสดงออก เพราะเราถูกเลี้ยงมาอย่างไรเราก็แสดงออกอย่างนั้น
คุณศิริบูรณ์ : เดี๋ยวเราจะกลับมาคุยกันว่าเราจะสังเกตตัวเราได้อย่างไรว่า เรากำลังทำสิ่งที่ผิดต่อลูกหรือว่าทำสิ่งที่ทำให้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับลูก ทำให้ลูกอาจจะมีปัญหาในภายหลังได้หรือเปล่า รวมถึงกลไกอื่นๆ ในสังคมด้วย คุณพ่อคุณแม่ที่อยากจะร่วมแสดงประสบการณ์หรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันในกรณีที่อาจจะมีปัญหาหรือว่าไม่มีปัญหามีวิธีการจัดการปัญหาให้กับลูกได้เป็นอย่างดี โทรศัพท์มาฝากความคิดเห็นกันได้ 02-6151011-2 เช้าวันนี้อุทิศให้กับเยาวชนไทยโดยเฉพาะค่ะ
…ช่วงที่ 2 ของรายการเช้าวันนี้ เรากำลังคุยกันถึงปัญหาเยาวชนไทยที่คุณพ่อคุณแม่และสังคมเป็นห่วงกันจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่กำลังก้าวย่างไปสู่ความก้าวร้าว การใช้ความก้าวร้าวในการแก้ปัญหาชีวิตของเขา วันนี้เราคุยกับครูหยุยซึ่งคลุกคลีดูแลเด็กไทยมาเป็นจำนวนมาก และดำเนินงานมาหลาย 10 ปีแล้ว วันนี้ครูหยุยมาวิเคราะห์ให้เราฟังว่าปัญหาต่างๆ มันเกิดขึ้นมาจากอะไร แล้วพอจะมีกลไกที่จะหาทางแก้ไขป้องกันอะไรต่างๆ ได้บ้างหรือเปล่า เมื่อสักครู่ครูพูดถึงกลไกสำคัญในโรงเรียนควรจะมีห้องคลายเครียด ทุกโรงเรียนควรจะมี และต้องมีครูสักคนหนึ่งที่เด็กทุกคนรัก และพร้อมที่จะให้คำปรึกษาอยู่ตลอดเวลา

คุณวัลลภ : ต้องเป็นนโยบายของโรงเรียนเลย เพราะขณะนี้เราสนใจเรื่องสมองอย่างเดียว คือเรื่องความรู้ โดยไม่สนใจเรื่องความรู้สึกหรืออารมณ์
คุณศิริบูรณ์ : เน้นด้านไอคิวอย่างเดียว ไม่มีอีคิว
คุณวัลลภ : อีคิวมีเฉพาะคำพูดเป็นครั้งๆ ไป ต้องพูดกันตรงไปตรงมา เพราะว่าเราไม่ลงทุนเลยแล้วเราก็มาทุกข์แบบนี้ พอเกิดเรื่องทีเราก็ตื่นไปพูดเรื่องหลักสูตรซึ่งมันยาวมาก
คุณศิริบูรณ์ : ต้องมีการอบรมครูที่ดูแลให้คำปรึกษาเด็กโดยเฉพาะ จำเป็นไหมคะว่าครูท่านนั้นต้องเรียนจิตวิทยา ต้องอะไรมีหลักวิชาการต่างๆ
คุณวัลลภ : ผมว่านักจิตวิทยาจำนวนหนึ่งก็เรียนมาจากครู อันนี้ผมพูดตรงๆ นะครับคือครูที่เด็กเขาเลือกกันไม่ต้องกังวลตรงนั้นหรอก นักจิตวิทยาขณะนี้คือมีไม่พอ ฉะนั้นครูแนะแนวเรามีเยอะขอให้ช่วยทำหน้าที่ด้านที่เขาจบมาก็พอแล้ว แต่ขณะนี้เอาเขาไปใช้ในทางที่ผิด เอาไปสอนหนังสือเสียมากกว่า
คุณศิริบูรณ์ : เพราะฉะนั้นกลไกของโรงเรียนสำคัญกับการที่จะหาคนที่เด็กไว้ใจจริงๆ เข้าไปอยู่ในโรงเรียนด้วย บ้านละคะ ครูบอกว่าพ่อแม่มักจะใช้ความรุนแรงเราจะปรับเปลี่ยน คือดิฉันว่ามีพ่อแม่หลายคนที่เลี้ยงลูกที่คิดว่าเลี้ยงลูกดี แต่ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นคือความรุนแรงหรือเปล่า
คุณวัลลภ : เรื่องของครอบครัวคงต้องดูแลหลายเรื่องไปพร้อมกัน เรื่องที่หนึ่งก็คือการเตรียมครอบครัวรายใหม่ที่จำเป็น คือเราเรียนจบมหาวิทยาลัยอายุ 22 ปี บางทีอุ้มลูก อุ้มเด็กไม่เป็น เพราะว่าเราไม่เคยเรียนรู้เรื่องการใช้ชีวิตการครองเรือน เรื่องการเป็นเพื่อนที่ดี เรื่องการให้เกียรติซึ่งกันและกัน เราไม่เคยเรียนเลย ฉะนั้นเมื่อไม่เคยเรียนก่อนจะแต่งงานหลายโรงพยาบาลพยายามทำกันอยู่ก็คือหลักสูตรการเตรียมผู้ปกครองรายใหม่ แต่เขาทำแบบลุ่มๆ ดอนๆ เพราะว่าไม่มีเงินทรัพย์พอสนับสนุนเพียงพอ ถ้ารัฐเห็นว่าจำเป็นคงจะต้องให้ขยายไปทั่วประเทศ เรื่องที่สองคือต้องมีศูนย์ที่เรียกว่าศูนย์แก้วิกฤติครอบครัว ครอบครัวโดยมากผู้หญิงจะถูกทำร้าย ลูกถูกทำร้าย เขาไม่รู้จะพึ่งใคร อย่างดีก็หอบลูกหนีออกมา แล้วกระเซอะกระเซิงไม่รู้จะไปไหน นอกจากจะไปหาองค์กรเอกชนเท่านั้น ฉะนั้นมันควรจะมีศูนย์ซึ่งคอยแก้ปัญหา คอยคลายเครียด คอยให้เขารับคำปรึกษาได้ ซึ่งกรมสุขภาพจิตพยายามทำอยู่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ แต่ก็ถือว่าก้าวไปถูกทางแล้ว เรื่องที่สามซึ่งผมเชื่อว่าเรื่องนี้เรื่องใหญ่ก็คือในครอบครัว เมื่ออยู่ด้วยกันเรารณรงค์มาก ถ้าไม่พร้อมอย่ามีลูก อันนี้เรื่องจริง เพราะบางทีเราไม่พร้อมทางอารมณ์ เราไม่พร้อมทางเศรษฐกิจที่พอที่จะเลี้ยงดูได้ เราก็เป็นห่วงในเรื่องนี้ ทำให้เราต้องหนักกว่าเดิม โอกาสที่จะใช้ความเครียดไปกับเด็กก็จะสูงขึ้น
คุณศิริบูรณ์ : เพราะจริงๆ แล้วมีลูกคนหนึ่ง เกิดภาระทั้งกำลังกาย กำลังใจ ต้องทุ่มเทและลงทุนเยอะมาก
คุณวัลลภ : อยากจะเรียนท่านผู้ปกครองว่า ถ้าเรามีลูกชีวิตวัยเด็กเป็นวัยทองคงจะทราบ ถ้าเราลงทุนดูแลเขาเรื่องเราสองคนไม่ทะเลาะกัน เราสองคนไม่เที่ยวเตร่ เราสองคนไม่มึนเมา ไม่ใช้ภาษาหยาบคายต่อกัน ไม่ต้องเป็นห่วงเลยครับ ลูกถอดแบบมาจากเราทั้งนั้น แล้วพอเราดูแลเขาดีๆ พอเขาเป็นวัยรุ่นเราก็จะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเราเอง เช่น เราเคยปากเปียกปากแฉะอบรมสั่งสอนเขาตอนเด็กๆ พอเขาเริ่มเป็นวัยรุ่นเราต้องเริ่มปิดปากมากขึ้น ฟังเขามากขึ้น แล้วก็พอเราฟังมากขึ้น เขาก็จะเล่าทุกอย่างให้เราฟัง และเราก็จะได้แนะนำเขาได้ ไม่มีอะไรยากหรอกครับ เพียงแต่ว่าอยู่ที่การประคองตัวของคนสองคนในเบื้องต้นมากกว่า
คุณศิริบูรณ์ : ต้องควบคุมสติตัวเองให้ได้มากที่สุดใช่ไหมคะ แล้วเรื่องของการตีลูกครูคิดว่ามีความจำเป็นมากน้อยขนาดไหนกับสังคมในปัจจุบัน
คุณวัลลภ : ในแง่ของปรัชญามี 2 แนวคิด แนวคิดที่หนึ่งบอกห้ามตี อีกแนวคิดหนึ่งบอกควรจะตีได้ ผมคิดว่าการตีมันอยู่ที่จังหวะและโอกาส ผมยังไม่ปฏิเสธ เช่น ในโอกาสที่สามารถจะสอนเขาได้ แต่บางเรื่องอาจจะต้องตี แต่การตีเขานั้นวิธีง่ายที่สุดให้ใช้มือตีมือ ถ้าตีแรงเราก็จะเจ็บไปด้วย แล้วก่อนจะตีให้นับหนึ่งถึงร้อยก็คืออย่าตีด้วยอารมณ์ ค่อยๆ นับแล้วค่อยๆ สอนเขาอย่างนี้ได้ แต่ถ้าเราฟาดด้วยอารมณ์โดยไม่ยับยั้งชั่งใจจะแรงเกินเหตุ จะนำไปสู่เรื่องการทารุณกรรม การตีนี้ต้องจำแนกให้ออก ผมจึงคิดว่ายังจำเป็นอยู่ในบางช่วงโอกาส แต่ว่าต้องตีอารมณ์ตัวเองให้แตกก่อน แล้วก็ค่อยไปใช้กับเขา แต่วิธีการทำโทษไม่ได้มีวิธีการเดียว มีหลายวิธีการ บางทีอาจจะไม่ต้องตี เช่น จับมือลูกมาแล้วนั่งคุยกัน จับมือลูกบีบแล้วนั่งคุยกันอย่างนี้ก็เป็นวิธีหนึ่ง ค่อยๆ บอกเขา แต่ว่าเราจะต้องนั่งก่อนแล้วก็สองคนต้องมีวิธีการซึ่งไม่ค่อยขัดแย้งกันมากนัก บางทีคนหนึ่งตีคนหนึ่งโอํมันก็ไปกันใหญ่ เด็กก็สับสนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อันนี้เป็นเรื่องวิธีปฏิบัติระหว่างสามีภรรยา
คุณศิริบูรณ์ : มีคนโทรสารมา (คุณอำนวย) บอกว่า ในเมื่อปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการเลี้ยงดูที่ผิดพลาดเพราะพ่อแม่ไม่รู้วิธีเลี้ยงดูลูก ทำไมเราไม่จัดให้มีโรงเรียนสอนพ่อแม่ให้รู้วิธีการเลี้ยงลูกให้ถูกต้อง
คุณวัลลภ : อันนี้ก็ตรงกับที่ได้เสนอว่า ต้องทุ่มเทอย่างจริงจัง ได้พยายามบอกกระทรวงพัฒนาสังคม ซึ่งมีสถาบันเกี่ยวกับครอบครัวที่ต้องดูแลนี้แล้ว เพราะถ้าเราไม่เน้นเรื่องนี้เราจะมีคนไม่พร้อม มีพ่อแม่เยอะไปหมด แล้วเราก็ตามแก้ปัญหาทีละราย ซึ่งไม่ทัน ฉะนั้นต้องเตรียมจริงๆ
คุณศิริบูรณ์ : เพราะฉะนั้นเรื่องการให้ความรู้นี้สำคัญมาก
คุณวัลลภ : เรื่องใหญ่มาก
คุณศิริบูรณ์ : เมื่อก่อนเขาบอกว่าฉันก็เลี้ยงลูก เลี้ยงพวกเธอโต คุณปู่ คุณย่า คุณตา พวกฉันก็เลี้ยงเธอโตกันมาได้ ไม่เห็นต้องมีหลักวิชาการอะไร
คุณวัลลภ : แต่สิ่งแวดล้อมขณะนี้ต่างจากเมื่อก่อนมาก
คุณศิริบูรณ์ : พูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมในส่วนนี้ละคะ เราต้องมีกลไกอะไรในการที่จะปรับหรือว่ารองรับหรือต่อสู้กับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
คุณวัลลภ : เมื่อวานได้คุยกับท่านรองนายกฯ จาตุรนต์ ฉายแสง ในเรื่องนี้เยอะมากว่าเรามีละคร วีซีดี สื่ออินเตอร์เน็ตที่นำไปสู่ความรุนแรงที่สูงมาก ฉะนั้นกลไกมาตรการในเชิงของการที่จะตกลงกันเอง ให้เครือข่ายมานั่งคุยกันว่า จะจัดประเภทของหนังดีไหม อย่างนี้เป็นต้นว่าอายุไหนดูเรื่องไหนได้ แล้วก็สื่อละครอะไรที่มันไม่จำเป็นจะต้องแสดงออกมานักก็อย่าแสดงขนาดนั้น เช่น ตบตีกันจ้าละหวั่น หรือว่าผิดหวังก็ฆ่าตัวตาย ฆ่าคนอื่น อย่างนี้ถ้าลดลงได้จะช่วยได้เยอะ ทุกอย่างใช้วิธีพูดคุยกัน อันนี้ก็เป็นวิธีที่หนึ่ง อันที่สองคือที่ยังหนักใจอยู่ เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ทำให้มนุษย์ขาดสติ อันนี้เยอะไปหมดเรื่องเหล้า สุรา เบียร์ทั้งหลาย อันนี้มากมายมหาศาล ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องไปพิจารณากฎหมายว่าขณะนี้เราควบคุมทั้งโฆษณาเหล้าในช่วงเวลาไหน แต่เบียร์โฆษณาได้ทุกเวลา อันนี้คงต้องมาคุยกันให้มากขึ้น ก็คงต้องอาศัยมาตรการทางกฎหมาย แต่ว่ามาตรการแรกคือตกลงร่วมใจกันว่า จะดูแลกันเองอย่างไรให้กระทบกับสังคมน้อยสุดกับสองคือใช้มาตรการทางกฎหมายกับบางเรื่อง เช่น อินเตอร์เน็ต ที่มีร้านเปิดเต็มไปหมด
คุณศิริบูรณ์ : มีโทรสารมาจากคุณศิริรัตน์ นนทบุรี บอกว่าร้านเกมเปิดมากมายมีลูกศิษย์ติดเกมมากๆ เกมที่เล่นส่วนใหญ่คือเกม Ragnarok ซึ่งดูแล้วเหมือนนรกจริงๆ ใช้อาวุธทำร้าย ทำลายล้างตลอด มิหนำซ้ำยังมีร้านบ้าที่เปิดเถื่อนให้ถึงเช้าก็มีไม่เสียภาษีด้วย อยากฝากให้ท่านนายกฯ กำจัดด่วนมิฉะนั้นเยาวชนไทยจะต้องสูญเสียไปกับเกมนรกเหล่านี้แน่ เพราะหนังสือก็ไม่ยอมเรียนเสียคนไปเลย
คุณวัลลภ : เสียคนมาก ต้องขอบคุณแฟกซ์นี้ที่เข้ามา เพราะว่าจะได้กระตุ้นกระทรวงไอซีที เพราะท่านก็ตั้งหลักนานมากก็ไม่ทำอะไรสักที
คุณศิริบูรณ์ : เรื่องของสิ่งแวดล้อมนอกเหนือจากภาครัฐที่ควรจะเข้ามาดูแล ซึ่งดิฉันก็ไม่อยากจะตั้งความหวังไว้กับภาครัฐมาก เพราะว่ามันมีกลไกอะไรต่างๆ ที่จะต้องใช้ระยะเวลา เราทำอะไรในระยะสั้นตรงนี้ก่อนได้ไหมคะ
คุณวัลลภ : ขณะนี้มีเครือข่ายพ่อแม่ลูกจัดขึ้นมาหลายแห่ง คือทุกโรงเรียนเขาบอกเขาไม่ไหวแล้ว ลำพังครูไม่ไหวแล้ว พ่อแม่เขาก็เลยรวมกันเป็นเครือข่ายพ่อแม่โรงเรียนแห่งนั้นเขาเริ่มเครือข่ายพ่อแม่ครูประจำชั้น คือในห้องทั้งห้องมีอะไรปรึกษาหารือกันไหม แล้วก็เครือข่ายนี้จะไปไกลถึงขั้นบางเรื่องถ้ามันกระทบกับเด็กมากเขาจะร้องเรียนต่อผู้ใหญ่ เช่น ร้านเกมตั้งขึ้นรอบโรงเรียนหมด กลุ่มพ่อแม่นี้ไม่ยอมแล้วอย่างนี้จะเป็นพลังใหญ่ ฉะนั้นถ้าพ่อแม่ทุกโรงเรียนรวมกันได้ อย่าว่าแต่ร้านเกมเลยสถานบริการทั้งหลายก็อยู่ไม่ได้
คุณศิริบูรณ์ : แล้วเขารวมตัวกันทำอะไรบ้างคะ
คุณวัลลภ : ไปร้องเรียนผู้ใหญ่ เพราะว่าผู้ใหญ่คือส่วนของรัฐ ถ้ามีประชาชนมาร้องเรียนเขาจะมีกำลังใจ แล้วจะมีแนวที่จะไปจัดการได้ เพราะพวกนี้คือฐานเสียงทั้งหมด
คุณศิริบูรณ์ : ผู้ใหญ่นี้อาจจะต้องอยู่ในซีกของนักการเมืองด้วย
คุณวัลลภ : ถูกต้อง ต้องมีนักการเมือง
คุณศิริบูรณ์ : เพราะว่าท่านจะได้ฟังเสียงประชาชนด้วยเหมือนกัน เดี๋ยวเราจะกลับมาคุยกันต่อเรื่องนี้ วันนี้โทรศัพท์เข้ามามากมายทีเดียว สกศ. จะมอบหนังสือ Education in Thailand เล่มนี้ให้กับทางผู้ชมที่ช่วยกันแสดงความคิดเห็นเข้ามาว่าเราจะแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในเยาวชนของเราได้อย่างไร เขียนคำถามลงไปใน เว็บไซต์ ของ สกศ. www.onec.go.th 10 ท่านที่เขียนเข้าไปแนะนำวิธีการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเด็ก สกศ.จะจัดส่งหนังสือไปให้ท่านถึงบ้าน พักกันสักครู่หนึ่งกลับมาคุยกับครูหยุยในช่วงสุดท้ายค่ะ
….ท่านผู้ชมรายการเช้าวันนี้สดพร้อมกัน 155 ประเทศทั่วโลก มีโทรสารมาจากคุณทิปวี ถ้าดิฉันอ่านผิดขออภัยเพราะว่าโทรสารค่อนข้างจะจางมองไม่ค่อยชัดเจนเท่าไร แต่เท่าที่พอสรุปใจความได้ก็คือ เสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องของการถ่ายทอดการกีฬามวยปล้ำนะคะครูหยุย เป็นการแสดงแต่เป็นความรุนแรง เราควรจะงดการถ่ายทอดกีฬาประเภทนี้ทางทีวีได้หรือไม่
คุณวัลลภ : ประเทศไทยเป็นประเทศเสรี คิดจะทำอะไรลำบาก นอกว่าไปจัดเรื่องเวลาการถ่ายทอด ในบ้านเราไม่มีการจัดเรื่องเวลา และอายุ แม้กระทั่งภาพยนตร์ ผมคิดว่ามันถึงเวลาที่ต้องจัดเร่งด่วน แต่ขณะเดียวกันก่อนจะจัดเรื่องเลท ผมห่วงเรื่องคณะกรรมการจัดเลทด้วย คือกรรมการบ้านเราตอนตั้งขึ้นใหม่ก็แข่งขันดี แต่พอระยะเวลานานไปเขาจะให้ผู้แทนไป มีแต่ตัวแทนกระทรวง ยิ่งเป็นคนซึ่งไม่ได้เรื่องก็คือว่าเขาไปแบบไม่ได้เต็มที่จริงๆ เลยผ่านทุกอย่างมาง่ายเกินไป อันนี้เป็นประเด็นปัญหาสำคัญของบ้านเรา
คุณศิริบูรณ์ : จากเชียงใหม่ อยากจะให้มีข้อห้ามนักร้องนักแสดงที่มาออกรายการโทรทัศน์ ไม่ให้แต่งตัววาบหวิวหรือไม่เหมาะสมเพราะว่าเด็กปัจจุบันจะเลียนแบบสื่อ
คุณวัลลภ : ควรจะเริ่มจากโทรทัศน์ของรัฐเสียก่อน เพราะเปลี่ยนง่ายที่สุด ถ้าเราเริ่มโดยการไม่ให้ ตั้งแต่เรื่องเล่นเกมด้วย ถ้าเราเริ่มตรงนี้ได้ก็จะช่วยได้เยอะ
คุณศิริบูรณ์ : จากกรุงเทพฯ ฝึกให้เด็กยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นมาให้ได้แล้วก็ปลูกฝังให้เด็กตั้งแต่เล็กๆ นี้ดีที่สุด
คุณวัลลภ : ขอบคุณมากเลย อันนี้เป็นสิ่งที่อยากพูดมาก ถ้าเราให้เด็กเรียนอย่างเดียวเด็กจะไม่ค่อยได้เข้าใจสังคมมากนัก ถ้าเด็กเรียนทำเรื่องกิจกรรมไปคู่ เด็กจะรู้เลยว่าความทุกข์คืออะไร เช่นไปเจอคนที่มีความทุกข์ ความสุขคืออะไร ความสำเร็จคืออะไร ความล้มเหลวคืออะไร ตรงนี้เด็กจะแกร่ง พอแกร่งก็จะเข้าใจชีวิตว่าชีวิตมีค่า คนอื่นเขายากจนกว่าเราเขายังอยู่ได้ การทำกิจกรรมจะสอนมนุษย์ให้เป็นคนที่สมบูรณ์
คุณศิริบูรณ์ : เล่นกีฬาได้มากที่สุด
คุณวัลลภ : ก็เป็นกิจกรรมหนึ่ง ผมคิดว่าเป็นนโยบายชัดเลยว่าถ้าเราให้เด็กเราสนใจกิจกรรมมากเท่าไร เขาจะหลุดออกจากปัญหาไปหมดเลย ตั้งแต่เรื่องการเที่ยวเตร่ การติดยา การฆ่าตัวตาย การฆ่าคนอื่นจะลดลงมาก
คุณศิริบูรณ์ : มีโทรสารมาอีกฉบับหนึ่งจากผู้ปกครองคนหนึ่งบอกว่า มีปัญหามากเรื่องร้านเกม ตอนนี้อยู่พัทยา มีลูกอยู่ที่โรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่ง บอกว่าห้างสรรพสินค้าจะมีร้านเกมแล้วเด็กก็แต่งชุดนักเรียนไปเล่นเกม เขาอยากให้รัฐบาล ตำรวจเอาจริงเอาจังเรื่องเวลาเปิดปิดของร้านเกมด้วย
คุณวัลลภ : อันหนึ่งก็เห็นด้วยว่าต้องให้จดทะเบียนเพราะจดทะเบียนจะคุมเรื่องเวลาเปิดปิดได้ สองต้องไปตกลงกันว่าเวลาในห้าง เช่น ช่วงเวลา 8 โมงถึงเที่ยงเวลาเรียนห้ามเผยแพร่เกม เช่น เกมแรคนาร็อก ก็จะมีวิธีการอยู่ ที่ผมฟังมาทางเจ้าของรายการเขาบอก ไม่ติดใจขอให้รัฐสั่งการมา อันนี้ก็ต้องการความเด็กขาดของรัฐเหมือนกัน แล้วก็หวังว่ารัฐท่านตั้งท่ามานานแล้วขอให้ท่านทำสักที
คุณศิริบูรณ์ : สงสัยต้องให้ท่านนายกฯ ลงมาลุยอีกเรื่องหนึ่งหรือเปล่า
คุณวัลลภ : สงสารท่าน รัฐมนตรีควรจะทำหน้าที่ได้
คุณศิริบูรณ์ : ฝากคุณหมอสุรพงษ์ไว้ด้วยแล้วกัน กระทรวงวัฒนธรรมไม่มีบทบาทเลยอยากให้รณรงค์กันเยอะๆ ได้เชิญกระทรวงวัฒนธรรมมาร่วมประชุมด้วยหรือเปล่าค่ะ
คุณวัลลภ : วันศุกร์นี้ท่านรองจาตุรนต์จะเชิญกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการหรือประชาสังคม กระทรวงมหาดไทยทุกกระทรวงที่ว่านี้มาประชุมร่วมกัน
คุณศิริบูรณ์ : จะมีวิธีใดบ้างที่จะแก้ไขพฤติกรรมความรุนแรงที่เด็กเล็กๆ แสดงออกมา เช่น การขว้างข้าวของทิ้งหรือว่าการทำร้ายสัตว์
คุณวัลลภ : อันนี้เป็นช่วงเวลาทองถ้าเด็กเล็กต้องรีบที่จะยับยั้งเขาโดยการอธิบาย บอกให้รู้ ต้องปากเปียกปากแฉะเลย แต่ว่าต้องดูว่าเขาเรียนแบบมาจากอะไร อาจจะมาจากเราหรือเปล่า เพราะบางคนเด็กไปโรงเรียนพูดหยาบมากเลย หาสาเหตุตั้งนาน ปรากฎว่ามาจากครอบครัวที่มีแม่ด่าหยาบคายมาก
คุณศิริบูรณ์ : สิ่งแวดล้อมสำคัญมาก ถ้าไม่ใช่ตัวเราก็ดูรอบบ้าน ญาติพี่น้องมีใครเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า เด็กจะจดจำจากสื่อเพราะฉะนั้นการนำเสนอสื่อจะต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาหรือว่าภาพต่างๆ ที่เสนอออกมา อันนี้ก็ฝากเรื่องสื่อนะค่ะ คำพูดของคุณครูนี้พูดจาไม่เพราะกับเด็กคุณครูชอบพูดมึงพูดกู ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กผู้หญิง ครูอาจจะรู้สึกว่าเป็นกันเอง อย่างนั้นหรือเปล่าคะ
คุณวัลลภ : มึง กู อาจจะยังไม่หยาบในความเห็นผม ขึ้นกับกาลเทศะหรือช่วงเวลามากกว่า แต่มีคำอื่นที่หยาบกว่าเยอะ เช่น ด่า เคยมีการไปทำวิจัยในสถานพินิจกับเด็กที่ติดคุก ภาษาอะไรที่รับได้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่เขาไม่ชอบคือไปล้อเลียนปมด้อย เช่น หัวล้าน จมูกโต
คุณศิริบูรณ์ : ฟังแล้วไม่หยาบ แต่จริงๆ คือปมด้อย
คุณวัลลภ : แต่คำพวกนี้มันจิก เด็กขอเรื่องนี้มากกว่า ฉะนั้นผมคิดว่าการใช้ภาษาของครูต้องอย่าไปกระทบปมด้อย นี้เรื่องใหญ่
คุณศิริบูรณ์ : จากกาฬสินธุ์ ในชั้นเรียนมีเด็กติดเชื้อเอชไอวีร่วมอยู่ด้วย จะมีวิธีใดบ้างที่ให้เด็กคนนั้นเรียนอยู่ในชั้นเรียนปกติสุข โดยที่เพื่อนหรือผู้ปกครองคนอื่นไม่รังเกียจ
คุณวัลลภ : ปกติเขาก็เรียนร่วมกันอยู่แล้ว เพียงแต่ปัญหาคือเรามักจะไปบอกคนอื่นว่าเด็กคนนี้ติดเชื้อ เด็กเขารู้อยู่แล้วว่าเขาติด แล้วเขาก็พยายามระวังตัวอยู่
คุณศิริบูรณ์ : ถ้าเกิดทุกคนรู้หมดแล้วอาจจะมีการตั้งข้อรังเกียจ
คุณวัลลภ : อันนี้เป็นปัญหาที่กำลังเป็นเรื่องอยู่ เขาก็เลยใช้วิธีซึ่งไม่ควรจะทำ คือเด็กย้ายไปเรียน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ฉะนั้นต้องทำความเข้าใจให้ทุกคนรู้ว่าโรคนี้ไม่ติดกันง่ายๆ
คุณศิริบูรณ์ : ให้ความรู้กับทุกคน
คุณวัลลภ : สมัยก่อนโรคเรื้อนติดกันง่าย จึงต้องมีโรงเรียนเฉพาะ แต่ว่าโรคเอดส์ติดยากมากๆ ฉะนั้นต้องให้เข้าใจว่ามันติดยากมาก สามารถอยู่ด้วยกันได้ กินอาหารด้วยกันได้ ยกเว้นไปมีเพศสัมพันธ์กันเท่านั้นที่มันรุนแรงที่สุดซึ่งมันเป็นไปไม่ได้
คุณศิริบูรณ์ : เพราะฉะนั้นให้ความเข้าใจกับเด็กนักเรียน กับผู้ปกครอง
คุณวัลลภ : เด็กเขาไม่รังเกียจกันหรอก มีแต่ผู้ใหญ่รังเกียจแทนเด็ก
คุณศิริบูรณ์ : ส่วนมากปัญหาอยู่ที่พ่อแม่มากกว่านะคะ มีนักเรียนบางโรงเรียนที่ต้องใส่ชุดธรรมดามาแล้วมาเปลี่ยนก่อนเข้าเรียนเพราะกลัวจะไม่ปลอดภัยจากนักเรียนโรงเรียนอื่น
คุณวัลลภ : ถูกต้องครับ
คุณศิริบูรณ์ : เห็นแล้วรู้สึกหดหู่ รู้สึกสงสารเด็กเพราะว่าเด็กบางคนมีความขยันและอยากจะเรียนจริงๆ จะช่วยเด็กโรงเรียนเหล่านี้ได้อย่างไร
คุณวัลลภ : กฎหมายใหม่เรื่องเครื่องแบบให้ยกเว้นได้เลย เพราะอันนี้ก็เป็นเรื่องจริงว่าเครื่องแบบบางแห่งใส่แล้วอันตราย ล่าสุดเขายิงกัน อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นว่าเราเอาเด็กเรามาผิดทาง ฉะนั้นคิดว่าเด็กอาชีวะต้องมีวิธีกับเขาแบบใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องยาวคงต้องคุยกันยาวทีเดียว
คุณศิริบูรณ์ : จากหนองคาย ทุกวันนี้บทบาทของครูเยอะอยู่แล้วเป็นทั้งครูเป็นทั้งนักจิตวิทยา ทั้งพยาบาล ทั้งตำรวจ แล้วก็อื่นๆ ควรจะแก้ไขด้านอื่นมากกว่าอย่าผลักภาระให้ครู
คุณวัลลภ : คงไม่ได้ผลักภาระ เพราะว่าอย่างที่ผมบอกถ้าครูมาทำหน้าที่นี้ก็ไม่ต้องสอน ขณะนี้เราให้ครูทำทุกเรื่อง ฉะนั้นถ้ามีครูหนึ่งคนมานั่งในห้องคลายอารมณ์อย่างเดียวไม่ต้องสอน สอนชีวิตอย่างเดียวเขาก็จะไม่เหนื่อย
คุณศิริบูรณ์ : อาจจะเอาจากบุคคลภายนอกมาได้ไหมคะ
คุณวัลลภ : ถ้าเราสามารถที่จะเชิญมาได้ เช่น นักจิตวิทยาจำนวนมากที่เขาเกษียณแล้ว เขาอยากทำงานนี้ก็มาได้ครับ โดยใช้องค์ประกอบคณะกรรมการโรงเรียนและเชิญพวกนี้มา
คุณศิริบูรณ์ : จากราชบุรี ลูกเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 3 แต่ติดเกมมากทำอย่างไรจะแก้ไขปัญหาได้อย่างนุ่มนวลที่สุด
คุณวัลลภ : ต้องพยายามไปเล่นกับเขา ไปอยู่กับเขา เอาคอมพิวเตอร์มาตั้งอยู่ส่วนกลางของห้อง พ่อจะใช้งานบ้างลูกจะเล่นบ้างจะได้สลับกันได้
คุณศิริบูรณ์ : ต้องหาวิธีการ พ่ออยากจะใช้คอมพิวเตอร์ย้ายออกมาข้างนอกหน่อยได้ไหม
คุณวัลลภ : ที่นุ่มนวลก็คือต้องไปอยู่ด้วยกัน แล้วก็คุยกัน
คุณศิริบูรณ์ : ยังมีความเห็นอีกมากมายหลากหลาย แต่คงจะไม่มีเวลาแล้วขอบพระคุณทุกสาย จากอุตรดิตถ์ ระยอง กาญจนบุรี กรุงเทพฯ ลำปาง ทุกความเห็นเราจะรวบรวมไว้ เพื่อจะนำไปศึกษาขยายผลต่อไปด้วย วันนี้กราบขอบพระคุณครูหยุย ท่าน สว.วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ที่ให้เกียรติมาคุยกับเรา วันนี้หมดเวลาแล้วลาไปก่อน สวัสดีค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น